โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

พาร์กินสัน โรคพาร์กินสัน เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร | โรงพยาบาลพญาไท 1

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยเป็น อันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1817 โดยนายแพทย์ เจมส์ พาร์กินสัน อัตราของการเกิดโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะอยู่ประมาณ 55-60 ปี โดยพบในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง 1.5 เท่า ความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันตลอดชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 2 และจากการศึกษาในกลุ่มประเทศแถบยุโรปพบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคพาร์กินสันในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 1.8 ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุน้อย (อายุน้อยกว่า 50 ปี) ส่วนใหญ่พบว่าจะมีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมากกว่าผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการตอนอายุมาก

สำหรับในประเทศไทยนั้นจากการศึกษาในโครงการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นพาร์กินสันกว่า 40,000 คน โดยพบว่าในเขตเมืองมีความชุกของโรคพาร์กินสันประมาณ 126.83 คน ต่อประชากร 100,000 คน และในเขตชนบทมีความชุกของโรคพาร์กินสันประมาณ 90.82 คน ต่อประชากร 100,000 คน ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในอีก 15 ปี ข้างหน้า จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
สาเหตุของโรคพาร์กินสันโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองบริเวณก้านสมองที่เรียกว่า Substantia nigra (parcompacta) ในสมองส่วนนี้ประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สร้างสารโดปามีน(Dopamine) เมื่อเกิดการตายของเซลล์ประสาทขึ้นในบริเวณดังกล่าวทำให้การสร้างสารโดปามีนลดลงจนเกิดความไม่สมดุลของวงจรควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้แก่ อาการแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า และอาการสั่น ปัจจุบันสาเหตุของความเสื่อมดังกล่าวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่การสัมผัสสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ อาการของโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีอาการสั่น อาการเกร็ง อาการเคลื่อนไหวช้า เดินซอยเท้าสั้นๆ ทรงตัวไม่ดีทำให้หกล้มง่าย ซึ่งอาการสั่นเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในโรคพาร์กินสันและมักเริ่มมีอาการที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายก่อน นอกจากอาการด้านการเคลื่อนไหวแล้วผู้ป่วยยังอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ด้วย ได้แก่ การรับกลิ่นและรสอาหารลดลง อาการท้องผูกเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติของการนอนหลับโดยเฉพาะอาการนอนกรนและนอนละเมอ การวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจะอาศัยอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) เพื่อแยกโรคจากโรคทางสมองอื่นๆซึ่งอาจทำให้มีอาการคล้ายพาร์กินสันได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการตรวจพิเศษบางอย่าง ได้แก่ การสแกนสมองดูการทำงานของสมองส่วนลึก (F-DOPA PET Scan) และการตรวจหาความผิดปกติของการสะสมธาตุเหล็กบริเวณก้านสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Transcranial sonography) ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันให้ดียิ่งขึ้น การรักษาโรคพาร์กินสัน การรักษาโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาเพื่อลดและควบคุมอาการพาร์กินสันทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหว เช่น มีอาการยุกยิกหลังได้รับยา หรือภาวะยาออกฤทธิ์ไม่สม่ำเสมอ ที่ไม่สามารถปรับยาเพื่อควบคุมอาการได้แล้วนั้น อาจพิจารณาทำการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เพื่อช่วยลดอาการดังกล่าวได้ นอกจากการการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการรักษาอื่นๆที่ควรทำควบคู่กับการรับประทานยา เช่น การทำกายภาพ การทำกิจกรรมบำบัด การฝึกพูด และการฝึกกลืน เพื่อช่วยให้อาการและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญและมีหลักฐานชัดเจนว่าสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคได้